ประวัติ ของ คะนัง กิราตกะ

พื้นเพเดิม

คะนัง หรือ คนัง เกิดปีใดไม่ปรากฏชัด ในงานเขียนของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ว่าน่าจะเกิดในปีระกา พ.ศ. 2440[3] บางแห่งก็ว่าเกิดในปี พ.ศ. 2442 เกิดในครอบครัวเงาะป่าในจังหวัดพัทลุง บิดาชื่อดำขาว ส่วนมารดาชื่อนางควาก มีพี่น้องคือ งอด, แค, ดิน และคะนังเป็นคนสุดท้อง ต่อมาบิดาและมารดาได้ถึงแก่กรรม บุตรทั้งหมดรวมทั้งคะนังจึงกำพร้า และอยู่กันตามยถากรรม[5]

ถูกคัดเลือก

เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) กับท่านผู้หญิงตลับ ยมราช

เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ เมืองนครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ 3 ถึง 8 กรกฎาคม ร.ศ. 124 (พ.ศ. 2448) ทางเมืองได้นำเงาะป่าจากพัทลุงมาถวายให้ทอดพระเนตรได้ทรงถ่ายภาพเงาะทั้งเด็กและผู้ใหญ่ชายหญิงไว้หลายรูป หลังจากทอดพระเนตรภาพดังกล่าวพระองค์ก็มีความสนพระทัยในเงาะป่า ทรงพระราชดำริที่จะลองเลี้ยงเงาะดูบ้าง จึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ซึ่งขณะนั้นยังเป็นพระยาสุขุมนัยวินิต สมุหเทศภิบาลสำเร็จราชการเมืองนครศรีธรรมราช ให้หาลูกเงาะป่าสักคนหนึ่งไม่จำกัดว่าชายหรือหญิง มีพระราชประสงค์เพียงแค่ให้เด็กมีขนาดพอเลี้ยงไม่ถึงขั้นเด็กอ่อน และทรงกำชับว่าให้เกลี้ยกล่อมอย่างละมุนละม่อมต่อบิดามารดา มิใช่การบังคับ[2] ต่อมาจึงมีการคัดเลือกเงาะจากจังหวัดพัทลุงซึ่งมีผู้นำคือ เงาะยัง โดยเงาะยังได้ให้ข้อมูลว่าในกลุ่มมีเงาะกำพร้าสี่คนซึ่งเป็นบุตรของดำขาวกับนางควาก แต่สองคนแรกคือ งอดและแค เป็นหนุ่มและออกไปที่อื่นแล้ว เหลือเพียง ดินกับคะนัง และเสนออุบายให้จัดมโนราห์ให้เงาะชมจนหลับและค่อยอุ้มเด็กเงาะคนใดคนหนึ่งออกมาขณะหลับ แต่เมื่อทำตามแผนดังกล่าวคะนังก็รู้สึกตัวไม่ยอมและร้องไห้งอแง จนต้องให้คนที่พูดภาษาซาไกได้ไปปลอบและเอาดอกไม้แดงให้จึงสงบลง[5]

เมื่อพาคะนังออกจากพัทลุงมายังเมืองสงขลา ก็ให้ท่านผู้หญิงยมราช (ตลับ) ทำการดูแล ทำการอบรมสั่งสอน คนังเองก็สามารถปรับตัวได้รวดเร็วและเรียกเจ้าพระยาและท่านผู้หญิงยมราชว่า "คุณพ่อ-คุณแม่ที่บ้าน"[5] เมื่อนำตัวไปยังเมืองหลวงก็ใช้เวลาแรมเดือนระหว่างนั้นก็ทำการปลอบโยนไปด้วยจนกระทั่ง "เมื่อราบกว่าแต่ก่อนหย่อนตื่นเต้น" ก็พาเข้ากรุงเตรียมถวายตัว[2]

เข้าวังหลวง

พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ

เมื่อเข้าสู่วังหลวง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏทรงรับเลี้ยง เมื่อคะนังถึงห้องรับแขกที่พระตำหนักพระวิมาดาเธอฯ คะนังก็นอนหงายลงกับพื้น และทำตีนงุ้มกำมือแน่น จนทุกคนที่เข้ามาชมนั้นต่างตกใจ ฝ่ายกรมขุนสุทธาสินีนาฏทรงรู้ทัน รับสั่งให้เอาของกินคือที่กล้วยที่เตรียมไว้มาตั้งให้ เมื่อคะนังเห็นดังนั้นก็ลุกขึ้นมากินทันที[2] แรกเริ่มคนังก็ดูหงอยแต่เมื่อเริ่มคุ้นชินมากขึ้นก็เริ่มประจบเอาใจจึงเป็นที่โปรดปรานมาก[2] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าพระยายมราชว่า "...อ้ายคนังตั้งแต่มายังไม่เจ็บเลย เจ้าสาย (พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ) นั้นหลงรักเหลือเกินทีเดียว เพราะมันไม่ได้ไปเที่ยวข้างไหนเลย อยู่แต่บนเรือน ช่างประจบด้วยความรู้ความประมาณตัวเองในสันดาน ทั้งถือตัวว่าเป็นลูก ก็พูดอยู่เสมอว่าลูกข้า ไม่ได้ไว้ตัวเทียบเจ้านายลูกเธอ รักแลนับถือไม่เลือกว่าใคร ไว้ตัวเองเสมอหม่อมเจ้า ไม่มีใครสั่งสอนเลย" ด้วยความสนิทสนมกับเจ้านาย คะนังจึงเรียกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าว่า "คุณพ่อหลวง" เรียกพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏว่า "คุณแม่" และเรียกสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดีว่า "คุณพี่"[6]

คะนังในวังหลวงเองก็มีชีวิตที่สุขสบาย มีพี่เลี้ยงคอยดูแลรักษาความสะอาดให้ แต่คะนังเองกลับไม่คุ้นชินกับชีวิตในวังมากนัก ในเรื่องการขับถ่าย ก็นั่งขับถ่ายในหม้อ พอเมื่อถ่ายเสร็จจะให้ล้างน้ำหรือกระดาษเช็ดก็ไม่ยอมต้องใช้ไม้เช็ดเท่านั้น[2]

เมื่อเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กคะนังก็ทำงานสนองพระเดชพระคุณ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตื่นจากบรรทม คะนังก็รีบแต่งตัวสวย ๆ เพื่อมาเข้าเฝ้า และเมื่อถึงเวลาเสวยพระกระยาหารร่วมกับเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ คะนังก็ได้นั่งใกล้ชิดพระยี่ภู่ที่ประทับ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงซักถามเรื่องต่าง ๆ เช่น ความเป็นอยู่ของพวกเงาะป่าในพัทลุง และพระราชดำรัสถามประจำก็คือ "เมื่อเช้านี้กินข้าวกับอะไรบ้าง"[2] และทรงซักถามคำศัพท์ของเงาะสำหรับพระราชนิพนธ์ เงาะป่า ด้วย[6]

จุดจบของคะนัง

หลังสิ้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์องค์ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงรับคะนังไว้ในราชการเป็นพลเสือป่า กรมเสือป่าพรานหลวงรักษาพระองค์ และประจำกรมพิณพาทย์หลวง และพระราชทานนามสกุลให้ด้วยว่า กิราตกะ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2457[1]

แต่เรื่องราวชีวิตหลังจากนี้ไม่ใคร่มีข้อมูลนัก แต่จากข้อเขียนของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ในอนุสาร อ.ส.ท. ปีที่ 3 ฉบับที่ 4 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2505 ได้ความเพียงว่า "...ก่อนสวรรคตราว 1 ปี คนังก็ออกไปอยู่กับพวกมหาดเล็กทางฝ่ายหน้า ถึงรัชกาลที่ 6 ก็เลยหายสาบสูญไป ได้ยินแต่ว่าเพื่อนชวนเที่ยวจนเป็นโรคตาย... หมอไรท์เตอร์อธิบายว่า คนพวกนี้มักจะฉลาดเมื่อเล็ก ๆ แต่ปัญญาทึบเมื่อโตขึ้น"[3]